7/13/2555

ทำธุรกิจจากทุนส่วนตัว หรือกู้เงิน ทางเลือกไหนจะมีโอกาสดีกว่ากัน


ทำธุรกิจจากทุนส่วนตัว หรือกู้เงิน ทางเลือกไหนจะมีโอกาสดีกว่ากัน 
              เคยคิดเล่น ๆ ตอนเข้าทำงานใหม่ ๆ อยู่ว่าทำไมหนอ คนมีเงินอยู่แล้วทำไมยังต้องไปขอกู้เงินจากธนาคารมาทำธุรกิจกัน บางคนเห็นยิ่งรวยก็ยิ่งกู้ทำโน่นทำนี่เพิ่ม ทำไมต้องยอมเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารนะ ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด การไม่มีหนี้น่าจะเป็นลาภอันประเสริฐ  แต่พอได้ทำงานได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์มากขึ้น เห็นโลกที่เป็นจริงขึ้นว่าคนไม่น้อยที่จำเป็นต้องมีหนี้ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นหนี้แล้วสร้างโอกาสที่ดีกว่า สร้างอนาคตได้ดีกว่า  ไม่ใช่เป็นหนี้แล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น กู้เงินไปใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค สิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์ เป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
ส่วนสำหรับหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ น่าจะเป็นวิธีการสร้างโอกาสที่ดีกว่า เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย หากเรากู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ในอนาคตเมื่อเราผ่อนชำระหนี้หมดแล้วเราก็มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้าน มีบ้านเป็นของตนเอง ย่อมดีกว่าเราเช่าอยู่อาศัย ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะมีกรรมสิทธิ์ตกเป็นของเรา
สำหรับผู้ประกอบการแล้วในการทำการค้าการเป็นหนี้ย่อมถือเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ เช่น ซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นเงินเชื่อ การขอวงเงินโอดีจากธนาคารมาหมุนเวียนในการค้า การกู้เงินมาลงทุนในการขยายธุรกิจ การซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อผลิตให้ทันออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น  เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อให้ธุรกิจก้าวหน้าเจริญเติบโตขึ้น
            เราลองมาคิดอีกขั้นดูว่า หากเรามีเงินทุนสักก้อนที่เพียงพอสำหรับการลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่เราอยากจะทำ  อาจจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟ  ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่มีทุนอย่างเดียวซื้อแฟรนไชส์มาก็ทำได้เลย หรือทำธุรกิจที่เราถนัดหรือน่าจะมีโอกาสในท้องถิ่น โดยเปรียบเทียบกันระหว่างกรณีที่กู้เงินกับกรณีที่ไม่กู้เงิน ว่าอย่างไรจะสร้างโอกาสได้ดีกว่ากัน  ตัวอย่าง  ธุรกิจปั้มแก๊สตามตารางข้างล่างนี้
(หน่วย : ล้านบาท)

กรณีไม่กู้เงิน
กรณีกู้เงิน
ปั๊มแก๊สแห่งเดียว
ปั๊มแก๊สแห่งที่ 1
ปั๊มแก๊สแห่งที่ 2
สินทรัพย์ที่ลงทุน
20
20
20
หนี้สิน (ยอดกู้)
-
10
10
ส่วนของผู้ถือหุ้น
20
10
10




รายได้ทั้งปี
20
20
20
หัก ต้นทุนและค่าใช้จ่าย
-15
-15
-15
กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย
5
5
5
หัก ดอกเบี้ยจ่าย
-
-1
-1
กำไรก่อนหักภาษีเงินได้
5
4
4
หัก ภาษีเงินได้ (30%)
-1.5
-1.2
-1.2
กำไรสุทธิ
3.5
2.8
2.8
โอกาสทำกำไรโดยรวม
3.5
5.6
หมายเหตุสมมติว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 10% ต่อปี




            จากตารางข้างต้นการลงทุนเปิดปั้มแก๊ส สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบการลงทุน โดยไม่กู้เงินกับการลงทุนโดยการกู้เงิน ว่าทางเลือกไหนที่มีโอกาสกว่ากัน ดังนี้ คือ
1.      กรณีที่ผู้ประกอบการมีเงินทุนลงทุนเพียงพอสามารถลงทุนได้เพียงแห่งเดียวโดยไม่ต้องขอกู้เงิน แต่หากผู้ประกอบการจะขอกู้เงินจากธนาคาร ผู้ประกอบการก็จะมีสถานประกอบการเพิ่มขึ้นทันทีอีกแห่งเป็น 2 แห่ง โอกาสที่ธนาคารจะพิจารณาอนุมัติให้กู้มีสูง เนื่องจากการลงทุนผู้ขอสินเชื่อมีเงินทุนอยู่แล้ว 50% ซึ่งในทางบัญชี มีหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 1 : 1 จัดว่าดี หลักประกันที่นำเสนอได้แก่ สถานที่ประกอบการทั้ง แห่ง ทั้งนี้ ธนาคารจะเข้าช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจ หากธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ แสดงว่าธุรกิจมีแนวโน้มการทำกำไรได้ดี
2.      ในการการกู้เงินทำให้มีสถานที่ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 2 แห่ง จะมีโอกาสทำกำไรมากกว่ากรณีไม่กู้เงิน คือในกรณีกู้เงิน จะมีกำไรสุทธิ รวม 5.6 ล้านบาท ส่วนกรณีไม่กู้เงิน จะมีกำไรสุทธิ 3.5 ล้านบาท
3.      ในกรณีกู้เงิน สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประหยัดภาษีเท่ากับ 30 %ของดอกเบี้ยจ่าย คือจริง ๆ แล้ว ธุรกิจจ่ายดอกเบี้ยเพียง 70 % ของดอกเบี้ยจ่าย  จากตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยที่จ่าย 10 % ประหยัดภาษีได้ 3 % จะเหลือจ่ายดอกเบี้ยจริง 7%
4.      ในกรณีกู้เงิน ทำให้มีสถานที่ประกอบการเพิ่มเป็น 2 แห่ง ทำให้มีโอกาสทางการตลาดมากกว่า
5.       ในกรณีกู้เงิน ทำให้มีโอกาสสร้างงาน สร้างคนให้มีงานทำ มากกว่ากรณีไม่กู้
            จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นนี้แล้ว ก็เลยได้มาถึงบางอ้อแล้วว่า ทำไมนะ คนยิ่งรวย ก็ยิ่งกู้ เพราะการกู้เงินที่วัตถุประสงค์ในการสร้างรายได้ ย่อมทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจดีขึ้น เร็วขึ้น และประหยัดต้นทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีผลกำไรมากขึ้นคุ้มค่ากว่าดอกเบี้ยที่จ่ายไป และที่สำคัญสามารถสร้างความพึงพอใจด้านบริการแก่ลูกค้าเหนือคู่แข่ง เกิดผลให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้วว่า การกู้เงินได้เป็นลาภอันประเสริฐ


โดย : สิทธิชัย แจ้งพลอย
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย



ทีมา http://k-expert.askkbank.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น