7/13/2555

ทำธุรกิจจากทุนส่วนตัว หรือกู้เงิน ทางเลือกไหนจะมีโอกาสดีกว่ากัน


ทำธุรกิจจากทุนส่วนตัว หรือกู้เงิน ทางเลือกไหนจะมีโอกาสดีกว่ากัน 
              เคยคิดเล่น ๆ ตอนเข้าทำงานใหม่ ๆ อยู่ว่าทำไมหนอ คนมีเงินอยู่แล้วทำไมยังต้องไปขอกู้เงินจากธนาคารมาทำธุรกิจกัน บางคนเห็นยิ่งรวยก็ยิ่งกู้ทำโน่นทำนี่เพิ่ม ทำไมต้องยอมเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารนะ ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด การไม่มีหนี้น่าจะเป็นลาภอันประเสริฐ  แต่พอได้ทำงานได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์มากขึ้น เห็นโลกที่เป็นจริงขึ้นว่าคนไม่น้อยที่จำเป็นต้องมีหนี้ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นหนี้แล้วสร้างโอกาสที่ดีกว่า สร้างอนาคตได้ดีกว่า  ไม่ใช่เป็นหนี้แล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น กู้เงินไปใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค สิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์ เป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
ส่วนสำหรับหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ น่าจะเป็นวิธีการสร้างโอกาสที่ดีกว่า เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย หากเรากู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ในอนาคตเมื่อเราผ่อนชำระหนี้หมดแล้วเราก็มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้าน มีบ้านเป็นของตนเอง ย่อมดีกว่าเราเช่าอยู่อาศัย ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะมีกรรมสิทธิ์ตกเป็นของเรา
สำหรับผู้ประกอบการแล้วในการทำการค้าการเป็นหนี้ย่อมถือเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ เช่น ซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นเงินเชื่อ การขอวงเงินโอดีจากธนาคารมาหมุนเวียนในการค้า การกู้เงินมาลงทุนในการขยายธุรกิจ การซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อผลิตให้ทันออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น  เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อให้ธุรกิจก้าวหน้าเจริญเติบโตขึ้น
            เราลองมาคิดอีกขั้นดูว่า หากเรามีเงินทุนสักก้อนที่เพียงพอสำหรับการลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่เราอยากจะทำ  อาจจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟ  ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่มีทุนอย่างเดียวซื้อแฟรนไชส์มาก็ทำได้เลย หรือทำธุรกิจที่เราถนัดหรือน่าจะมีโอกาสในท้องถิ่น โดยเปรียบเทียบกันระหว่างกรณีที่กู้เงินกับกรณีที่ไม่กู้เงิน ว่าอย่างไรจะสร้างโอกาสได้ดีกว่ากัน  ตัวอย่าง  ธุรกิจปั้มแก๊สตามตารางข้างล่างนี้
(หน่วย : ล้านบาท)

กรณีไม่กู้เงิน
กรณีกู้เงิน
ปั๊มแก๊สแห่งเดียว
ปั๊มแก๊สแห่งที่ 1
ปั๊มแก๊สแห่งที่ 2
สินทรัพย์ที่ลงทุน
20
20
20
หนี้สิน (ยอดกู้)
-
10
10
ส่วนของผู้ถือหุ้น
20
10
10




รายได้ทั้งปี
20
20
20
หัก ต้นทุนและค่าใช้จ่าย
-15
-15
-15
กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย
5
5
5
หัก ดอกเบี้ยจ่าย
-
-1
-1
กำไรก่อนหักภาษีเงินได้
5
4
4
หัก ภาษีเงินได้ (30%)
-1.5
-1.2
-1.2
กำไรสุทธิ
3.5
2.8
2.8
โอกาสทำกำไรโดยรวม
3.5
5.6
หมายเหตุสมมติว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 10% ต่อปี



ข้อคิดสำหรับผู้ที่จะซื้อรถยนต์


ข้อคิดสำหรับผู้ที่จะซื้อรถยนต์ 
            ปัจจุบัน รถยนต์สามารถเป็นได้ทั้งสิ่งจำเป็นในชีวิตและเครื่องมือแสดงสถานะไปในตัว หลายท่านที่มีฐานะการเงินดีมีเงินเหลือเยอะ ก็อยากจะซื้อรถด้วยเงินสด ด้วยเหตุว่าจะได้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ดี ในเชิงการวางแผนการเงิน เรามีข้อแนะนำบางประการสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อรถยนต์
ประการแรก ให้เลือกซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพราะถ้ามองในเชิง ความคุ้มค่าของเงิน ที่จะใช้ไปแล้ว อาจเรียกได้ว่าการซื้อรถยนต์เป็นการลงทุนที่ขาดทุนมากที่สุด เพราะโดยทั่วไปเมื่อนำไปขายต่อในสภาพรถมือสองแล้ว ราคาจะลดลงเยอะมาก คิดคร่าวๆ คือค่าเสื่อมราคาในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 30% ถึง 40% และในปีต่อไปอยู่ที่ประมาณ 10% ถึง 20% ต่อปี รวมภายใน ปีแรก มูลค่ารถน่าจะเหลือแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง  ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องเลือกรถสักคันก็ควรเลือกให้พอเหมาะกับเงินที่เราจะ ลงทุน” ไป คือดูว่ามันเหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งานจริงๆ ไม่ต้องมีเครื่องตกแต่งอะไรที่มันมากเกินความจำเป็น เว้นแต่ผู้ที่มีเงินเหลือเยอะมากก็อาจมองว่าการซื้อรถเป็นการลงทุนทางเลือกแบบหนึ่ง คือจัดหาอุปกรณ์แต่งรถตามความชอบหรือซื้อมาหลายรุ่นเก็บสะสมไว้เพื่อความสุขตาสุขใจ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ
ประการที่สอง อย่าซื้อ เงินสด เหตุผลก็คือเงินที่เราจะเอาไปซื้อรถคันหนึ่ง อย่างน้อย ๆ ก็ครึ่งล้านบาท แต่พอเวลาผ่านไป 1 ปี ราคารถยนต์มันจะเสื่อมค่าลงไปเรื่อยๆ เช่น ลดลงประมาณ 30% ภายใน 1 ปี พอผ่านไป 5 ปีราคาจะเหลือประมาณ 50% ลองคิดดูว่าถ้าเราจ่ายเป็นเงินสดทั้งก้อน เงินของเราก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว คือในเวลา 5 ปีก็หายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ทางเลือกที่ดีกว่าในเชิงการเงินก็คือการใช้บริการสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ เรียกว่าการเช่าซื้อ (Hire Purchase) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราวๆ 2% ต่อปีเท่านั้น แล้วนำเงินจำนวนเดียวกันนั้นไปลงทุนไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม ทองคำ หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตั๋วเงินคลัง หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ก็ให้ผลตอบแทนราว 2% อยู่แล้ว วิธีนี้จะให้ผลคุ้มค่ามากกว่าการซื้อด้วยเงินสดทั้งก้อน กล่าวโดยสรุปคือกรณีบุคคลธรรมดา การซื้อรถด้วยเงินสดนั้น ผมว่าเป็นวิธีที่เอาเงินไปละลาย 50% ภายใน 5 ปี และเสียโอกาสในการลงทุนที่มีทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ดี 
ถ้าเป็น นิติบุคคล คือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการหารถยนต์มาใช้ในกิจการของตัวเอง วิธีที่เป็นประโยชน์ที่สุดคือการใช้บริการลีสซิ่ง (Leasing) เพราะในเชิงภาษีแล้ววิธีการลงบัญชีจะต่างกัน การเอารถยนต์มาใช้ด้วยวิธีลีสซิ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในลักษณะการเช่า ต่างจากกรณีการเช่าซื้อที่ได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อทรัพย์สินแล้วลงรายจ่ายเป็นค่าเสื่อมราคา โดยในหลักบัญชีแล้วการลงบัญชีแบบลีสซิ่งจะทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ผลก็คือทำให้กำไรสุทธิก่อนหักภาษีน้อยลง เสียภาษีน้อยลง และมีกระแสเงินสดของกิจการมากขึ้น
            สมมติรถราคา 1 ล้านบาท ว่านิติบุคคลซื้อรถด้วยเงินสดหรือทำเช่าซื้อ จะหักค่าเสื่อมราคาได้ 5 ปีๆ ละ 200,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 16,667 บาท แต่ถ้าเกิดว่าไปทำลีสซิ่งก็หักค่าเช่าได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็มากเป็นสองเท่าเทียบกับการซื้อด้วยเงินสดหรือว่าเช่าซื้อ แปลว่าสามารถเร่งค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ประหยัดภาษีได้มากกว่า
ประการสุดท้าย ควรซื้อรถยี่ห้อที่ได้รับความนิยม แต่ถ้าเผอิญถูกใจยี่ห้อที่ไม่ได้รับความนิยมก็ให้ดูรุ่นที่ได้รับความนิยม เพราะการขายต่อก็จะได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้ ถ้ารุ่นไหนเสนออัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อร้อยละศูนย์ ลดแลกแจกแถมเยอะ ก็ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจเป็นรถตกรุ่นหรือขายไม่ดี ภาษาในวงการเรียกว่า cold cake รถที่ขายดีเค้าจะไม่ทำโปรโมชั่นพวกนี้
โดยสรุปแล้ว แนะนำว่าบุคคลธรรมดาควรซื้อรถด้วยวิธีเช่าซื้อ เพราะว่าดอกเบี้ยถูกมาก การนำเงินที่จะซื้อแบบเงินสดไปลงทุนทั้งกองทุน  ทั้งทองคำ  ทั้งอสังหาริมทรัพย์ก็ย่อมได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทั้งนั้น ส่วนกรณีนิติบุคคลที่มีกำไรก็แนะนำให้ทำลีสซิ่ง เพราะว่าหักภาษีได้มาก  โดยเฉพาะรถราคาเกิน 1 ล้านบาท หักภาษีได้ถึง 2 ล้านกว่าบาทซึ่งได้ประโยชน์ทางภาษีมาก

โดย : วิศวกร ปันยารชุน 
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย