1/01/2554

ตราสารหนี้ ภาครัฐ

ตราสารหนี้ภาครัฐมีหลายประเภทดังนี้


1. ตราสารหนี้รัฐบาล  ได้แก่
1.1 ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bills)
เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี  ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา  เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา
ตั๋วเงินคลังเริ่มออกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2488 มีอายุ 4 เดือน วงเงิน 50 ล้านบาท และมีการออกต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2533 ต่อจากนั้นรัฐบาลหยุดการออกตั๋วเงินคลัง  และเริ่มออกใหม่อีกครั้งโดยประมูลเมื่อวันที่ 27 กันยายน  2542 และออกต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

ปัจจุบัน ตั๋วเงินคลังส่วนใหญ่มีอายุ 28 วัน 91 วัน และ 182 วัน  



 

1.2 ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring Bills)
เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา  เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา
ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เป็นการออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 เริ่มมีการประมูลครั้งแรกในเดือนมีนาคม  2544 และออกต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปี 2550
ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ มีอายุที่กำหนดเป็นวัน ส่วนใหญ่มีอายุ 182 วัน
 1.3 พันธบัตรรัฐบาล(Government Bonds)
เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
รัฐบาลไทยออกพันธบัตรเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2448  คือ พันธบัตรเงินกู้ยุโรป ค.ศ. 1905 เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศโดยออกพันธบัตรจำหน่ายในตลาดการเงินลอนดอนและปารีส จำนวน 1 ล้านปอนด์ เพื่อใช้ก่อสร้างทางรถไฟ ช่วยเหลือเงินคงคลัง และทำนุบำรุงประเทศ   เป็นพันธบัตรชนิดจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ อายุ 40 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี
พันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศ  เริ่มออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2476 ในสมัยรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คือ พันธบัตรเงินกู้ พ.ศ. 2476 โดยออกตามพระราชบัญญัติจัดการกู้เงินภายในประเทศ พ.ศ. 2476 วงเงิน 10 ล้านบาท กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดจำหน่ายเอง เป็นพันธบัตรชนิดชำระเงินให้แก่ผู้ถือ อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ต่อปี
พันธบัตรรัฐบาลที่ออกจำหน่ายในปัจจุบันมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้  พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ เป็นต้น
พันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด โดยปกติจะจ่ายปีละ 2 งวด เมื่อครบกำหนดอายุของพันธบัตร ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
 1.4 พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Savings Bonds)
เป็นตราสารหนี้ที่ออกเพื่อขายให้แก่บุคคลธรรมดา และสถาบันที่ไม่มุ่งหวังกำไร เช่น มูลนิธิ สภากาชาดไทย และสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  เพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุน
พันธบัตรออมทรัพย์ส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 งวด เมื่อครบกำหนดอายุของพันธบัตร ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise Bonds)
เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ออกโดยรัฐวิสาหกิจ (องค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจ โดยมีรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นหรือร่วมกัน
ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินทุนไปใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ มีทั้งชนิดที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย   กับชนิดที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย  ทั้งสองชนิดกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจัดหาสถาบันผู้จัดจำหน่ายและประกันการจำหน่ายโดยวิธีการประมูล  สถาบันที่เข้าร่วมประมูลในอัตราค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุดจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภท
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด โดยปกติจะจ่ายปีละ 2 งวด เมื่อครบกำหนดอายุของพันธบัตร ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
 3. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Bonds)
ธปท. เป็นผู้ออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน  ดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ  และช่วยสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้เกิดการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 
ธปท. ออกตราสารหนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 เป็นพันธบัตรอายุ 6 เดือน และออกพันธบัตรเรื่อยมาจนถึงปี 2540 (เว้นปี 2532  2535  2536 และ 2537) มีอายุหลากหลาย ได้แก่ 1 เดือน  3 เดือน  6 เดือน  1 ปี  และ 2 ปี  ในปี 2540 เริ่มออกพันธบัตรที่กำหนดอายุเป็นวันด้วย ได้แก่ อายุ  35 วัน  42 วัน  และ 49 วัน  จากนั้นหยุดการออกพันธบัตรไประยะหนึ่ง และเริ่มออกอีกครั้งตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
ปัจจุบันพันธบัตร ธปท. มีความหลากหลาย ดังนี้
3.1 พันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี มีอายุตั้งแต่ 3 วัน จนถึง 364 วัน  ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย จำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา  เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา
3.2 พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน ตามอัตราดอกเบี้ย ที่ ธปท. กำหนดสำหรับพันธบัตรแต่ละรุ่น เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
3.3 พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด ตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. กำหนดล่วงหน้าก่อนเริ่มงวดการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรแต่ละรุ่น โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย   พันธบัตร ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2550 อายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง BIBOR ระยะ 6 เดือน 0.20 อัตราดอกเบี้ยงวดแรกกำหนดไว้เท่ากับร้อยละ 4.41094 ต่อปี
3.4 พันธบัตรประเภทออมทรัพย์ จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน ตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. กำหนด  เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับคืนต้นเงินเท่ากับราคาตราพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย  พันธบัตร ธปท. ประเภทออมทรัพย์ เริ่มออกครั้งแรกปี 2550 อายุ 4 ปี และ 7 ปี ตามระเบียบ ธปท. ที่ สกง.12/2550 ว่าด้วยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย <<คลิกเพื่อดูข้อมูลระเบียบ>>  
พันธบัตรธปท. อายุไม่เกิน 1 ปี  อายุเกินกว่า 1 ปี  และพันธบัตรประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูล ตามระเบียบ ธปท. ที่ สกง.2/2550 ว่าด้วยการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย  และประกาศ ธปท. ที่ สกง.3/2550 เรื่อง วิธีการจำหน่าย ผู้มีสิทธิประมูล วิธีการประมูล การจัดสรร และการชำระราคาพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย <<คลิกเพื่อดูข้อมูลระเบียบ/ประกาศ>> 
สำหรับพันธบัตร ธปท. ประเภทออมทรัพย์ จำหน่ายในตลาดแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ผ่านธนาคารตัวแทนซึ่งจะกำหนดในแต่ละคราว ในการจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2550 จำหน่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)  ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)  และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
4. พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund Bonds)
เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินออกพันธบัตรครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 เพื่อระดมเงินมาให้กู้แก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศ 
ปัจจุบันพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกอบด้วย
4.1  พันธบัตรที่จำหน่ายเฉพาะเจาะจงให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย
4.2  พันธบัตรออมทรัพย์ ออกจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น